วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Listening Skill

               ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับชาวต่างชาติ เป็นสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ ประกอบกับในยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีที่ต้องใช้ทักษะทางภาษาอังกฤษ ดังที่ ยุดา  รักไทย (2552 : 26) ได้กล่าวว่า “บทบาทและความสำคัญของภาษาอังกฤษ เป็นแรงผลักให้ผู้เรียน ต้องเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านความรู้ ความคิดและเทคโนโลยีต่างๆ กับชาวต่างชาติ”  ซึ่งความจำเป็นในการใช้ภาษาดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2544 : 1) ได้กำหนดไว้ในเอกสารสาระและมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ในเรื่องวิสัยทัศน์การเรียนรู้ว่า  “การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความคาดหวังว่า เมื่อผู้เรียนเรียนภาษาอังกฤษ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ผู้เรียนจะมีเจตคติที่ดีต่อภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) สามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ แสวงหาความรู้ ประกอบอาชีพและสามารถถ่ายทอดความคิดและวัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์” 



 
                 ในธรรมชาติของเด็กนั้นเด็กมีสัญชาตญาณแห่งการสื่อสารและการพูดอยู่แล้วจึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการที่จะจูงใจให้นักเรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษ และที่สำคัญคือครูจะต้องไม่ลืมว่า การเรียนภาษาอังกฤษเป็นการเรียนเพื่อการใช้ภาษา ไม่ได้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษา  ดังนั้นครูจึงไม่ควรที่จะปิดกั้น หรือห้ามปรามเมื่อเด็กพูดจนมากเกินไป ครูควรปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสพูดแสดงความคิดเห็นบ้าง หรือให้นักเรียนได้มีโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษในห้องเรียนให้มากขึ้น หรือครูควรจัดให้มีกิจกรรมให้เด็กได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษอย่างสม่ำเสมอ
 

ทักษะการฟังคืออะไร?...          
        การสื่อสารในชีวิตประจำวันนั้นการฟังนับว่าเป็นทักษะรับสารที่สำคัญทักษะหนึ่ง เป็นทักษะที่ใช้กันมากและเป็นทักษะแรกที่ต้องทำการสอนเพราะผู้พูดจะต้องฟังให้เข้าใจเสียก่อนจึงจะสามารถพูดโต้ตอบ อ่านหรือเขียนได้ ทักษะการฟังจึงเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ  ดังนั้นในการเรียนการสอนนักเรียนจึงควรได้รับการฝึกฝนทักษะการฟังอย่างเพียงพอและจริงจัง     
          นพเก้า   ณ พัทลุง(2548:22) ได้ให้ ความหมายของทักษะการฟัง หมายถึงความสามารถในการจับ
ประเด็นใจความหลักจากสิ่งที่ฟังได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนซึ่งเป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน เพราะผู้เรียน
ต้องเข้าใจสาระสำคัญจากสิ่งที่พูดอารมณ์และความคิดเห็นของผู้พูดและสามารถตอบสนองระบุความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดหรือบริบทของการพูดได้
คุณค่าของการฟังคืออะไร                       
           David Pual (2004 : 71)  ได้กล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่เด็กๆจะต้องฟังภาษาอังกฤษที่เหมาะกับระดับของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภาษาควรจะง่ายสำหรับเด็กและอยู่ในระดับปัจจุบันหรือเหนือระดับที่เข้าใจได้แล้วเล็กน้อย ถ้าระดับยากเกินไปเด็กอาจสูญเสียความมั่นใจและทัศนคติด้านบวกไปก็ได้ หากเด็กได้เรียนภาษาอังกฤษหลายครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยได้มากถ้าให้ทำแบบฝึกหัดการฟังอย่างสม่ำเสมอจากเทป หรือครูผู้ให้ข้อมูลแบบฝึกหัดควรจัดระยะให้ห่างเท่าๆกันในบทต่างๆแทนที่จะทำพร้อมกันในชั่วโมงเรียนถ้าหากเรียนหนึ่งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์เราไม่ควรคาดหวังว่าความสามารถในการฟังของเด็กจะดีขึ้นมากจากการทำแบบฝึกหัดการฟังในชั้นเรียนที่สำคัญมากก็คือให้ทำแบบฝึกหัดการฟัง อย่างสม่ำเสมอในช่วงที่ไม่ได้เรียนเราอาจสนับสนุนให้เด็กและผู้ปกครองฟังเทปในรถที่บ้านหรือสนับสนุนให้เด็กดูวีดีทัศน์หรือใช้โปรแกรมภาษาอังกฤษ สิ่งที่อาจทำได้นั้นสิ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเด็กและเวลาที่เด็กทุ่มเทให้ภาษาอังกฤษ แต่อย่างน้อยเราสามารถเน้นกับเด็กและผู้ปกครองว่าเด็กจะได้ประโยชน์อย่างสูงจากการได้ฟังภาษาอังกฤษมากๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าควรหลีกเลี่ยงการใช้เทปในชั้นเพียงแต่เราไม่ควรคาดหวังว่าการฟังเทปหนึ่งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์จะทำให้ความสามารถในการฟังของเด็กดีขึ้นมากนัก เทปยังมีประโยชน์มากในการทำให้ได้ยินเสียงของตัวละคร เสียงของเจ้าของภาษา ที่ช่วยสร้างความหลากหลายในวิธีที่เด็กจะได้พบเป้าหมายทางภาษาให้แบบอย่างในการออกเสียงและช่วยแนะนำฝึกร้องเพลงอีกด้วย
ควรฟังครูหรือเทปก่อน..?  
        เมื่อเด็กๆพบคำหรือรูปประโยคใหม่จากการฟังเราเราอาจ โต้ตอบได้ขณะที่พูดและเสนอคำและรูปแบบประโยคใหม่เป็นปริศนาเช่นครูอาจยิ้มให้เป็นกำลังใจแล้วถามคำถามเด็กเป็นคนๆไปเช่นWhat sport do you like ? (หนูชอบกีฬาอะไร) ตอนแรกเด็กอาจไม่เข้าใจแต่เราถาคำถามนั้นเป็นปริศนาให้เด็กไขเราอาจกระตุ้นให้เด็กๆถามครูด้วยคำถามเดียวกัน และให้เด็กเข้าใจจากคำตอบของครูถ้าครูตอบโดยใช้กีฬา ที่เด็กๆชอบคุ้นเคยด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มเพื่อแสดงว่าชอบ เด็กๆก็จะสามารถเดาความหมายของประโยคได้จากบริบท แล้วเริ่มถามและตอบกันเอง ด้วยวิธีนี้เด็กๆจะได้เรียนรู้ด้วยการสัมผัสภาษาอังกฤษเป็นกลุ่มก้อนได้ใช้ความคิดและการเดา เมื่อเด็กๆฟังเทปครั้งแรกเด็กมักจะไม่ค่อยเดาและโต้ตอบดังนั้นถ้าให้มีการฝึกก่อนฟังก็จะดีมาก เป็นต้นว่าให้ใช้ภาษาในเทปโต้ตอบกัน เล่นเกมที่ใช้ศัพท์และรูปประโยคที่อยู่ในเทปหรือให้เด็กทำปริศนาขณะที่ฟังเทป เช่นเด็กอาจมีรูปภาพชุดหนึ่งที่ประกอบเรื่องในเทปโดยให้รูปพวกปนกันอยู่ให้เด็กๆจัดให้อยู่ในลำดับที่ถูกต้องเมื่อฟังเทป กิจกรรมประเภทนี้เด็กจะมีสมาธิใช้ความคิดและไขปริศนาไปด้วย
อะไรคือหลักการเบื้องหลังของการสอนทักษะการฟัง ?...         
       เสาวภา  ฉายะบุระกุล (2546:136) ได้กล่าวถึงหลักการเบื้องหลังของการสอนทักษะการฟัง
ดังนี้คือ          
1.เครื่องบันทึกเทปมีความสำคัญเท่าๆกับตัวเทปเอง ไม่ว่าเทปจะดีเพียงใดจะหมดความหมายทันทีหากลำโพงเรื่องบันทึกเทปมีคุณภาพต่ำ
2. การเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญ      

 ทั้งครูและนักเรียนจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการฟัง   ครูต้องฟังเทปตั้งแต่ต้นจนจบก่อนจะเอาเข้าไปเปิดในชั้นเรียน ซึ่งวิธีนี้ครูจะสามารถเตรียมตัวและตัดสินใจได้ว่า นักเรียนจะฟังเทปและทำงานประกอบการฟังได้หรือไม่           
3. ฟังครั้งเดียวไม่พอ ครูควรจะเปิดเทปให้นักเรียนฟังอย่างน้อย 2 รอบ เพื่อที่จะให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาลักษณะทางภาษาบางอย่างที่อยู่ในเทป            
4.ควรกระตุ้นให้นักเรียนตอบสนองต่อเนื้อหาของสิ่งที่ฟังด้วยไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงภาษาเท่านั้น เช่นเดียวกับการอ่าน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการฝึกฝนทักษะการฟังคือการพยายามจับความหมาย เจตนารมณ์ของผู้พูด             5.งานประกอบการฟังจะต้องแตกต่างกันไปตามลำดับขั้นตอนการฟังที่แตกต่างกัน  เพราะเหตุผลที่ว่าเราอยากจะทำอะไรหลายๆอย่างกับเรื่องที่ให้นักเรียนฟังเราจึงจำเป็นต้องกำหนดงานให้แตกต่างกันตามลำดับขั้นตอนการฟังที่แตกต่างกันซึ่งหมายความว่าในการฟังรอบแรกงานที่ให้ทำจะต้องเป็นคำถามที่ค่อนข้างตรงไปตรงมากระตุ้นการใช้ภาษา หากทำเช่นนี้จะช่วยให้นักเรียนสามารถคลายความเครียดจากการฟังได้ อย่างไรก็ตามในการฟังรอบหลังๆ อาจเน้นที่รายละเอียดของข้อมูล การใช้ภาษา หรือการการเสียงได้ดียิ่งขึ้น          
6.ครูที่ดีต้องใช้ประโยชน์จากเรื่องที่ให้นักเรียนฟังให้เต็มที่
หากครูให้นักเรียนลงทุนทั้งเวลาและพลังทางอารมณ์ในการทำกิจกรรมการฟังครูก็ควรจะใช้เทปนั้นเพื่องานหลายประเภทให้มากที่สุด ดังนั้นหลังจากการเล่นเทปครั้งแรก ครูอาจเล่นเทปอีกครั้งก็ได้เพื่อการศึกษาแบบต่างๆก่อนที่จะใช้เนื้อเรื่อง สถานการณ์หรือถอดเทป สำหรับกิจกรรมใหม่ ดังนั้นการฟังจึงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญตอนหนึ่ง ในขั้นตอนการสอน มิใช่เป็นแค่เพียงแบบฝึกหัดเท่านั้น
กิจกรรมอะไรที่ช่วยส่งเสริมการสอนทักษะการฟัง        
         ปราณี  ธนะชานันท์ (2547:73) ได้เสนอแนะกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการฟังไว้ดังนี้          
1. การเขียนตามคำบอก มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในการพัฒนาการรับรู้เสียงของภาษาและตรงกันข้าม
กับความเห็นส่วนใหญ่เรื่องการเขียนตามคำบอก การทำเช่นนี้อาจเป็นกิจกรรม
ที่สนุกสนานได้ ครูอาจออกเสียงให้เด็กเขียนในรูปภาพ ตาราง บิงโกและแผนที่มหาสมบัติเด็กเลือกช่อง
ที่จะเขียนเสียงลงไป และได้แต้มถ้าเลือกช่องบางช่องเด็กๆอาจมีใบงานที่มีเสียงและคำอยู่แล้วและทำกิจกรรม เช่น ฟังเสียงหรือคำบอกเลือกคำตอบที่ถูกบนใบงาน แล้วโยงเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นภาพหรือเดินทางไปตามเขาวงกต หรืออาจทำกิจกรรมในคลังเกม เช่น Bingo (บิงโก) Chopstick Spelling(การสะกดคำด้วยตะเกียบ) Treasure Hunt Challenge (การค้นหาขุมทรัพย์)
2. การเล่าเรื่อง ถ้าเด็กเรียนมากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์การเล่าเรื่องถือเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมการฟัง โดยเฉพาะหากสามารถรวมภาษาในเรื่องให้กลมกลืนไปกับเนื้อหาที่เรียน เมื่อใช้เรื่องสำหรับฝึกการฟังครูอาจจำเรื่องมาเล่าให้เด็กฟัง อ่านให้ฟัง หรือเปิดเทปให้ฟัง หากเป็นเรื่องที่ครูจำมาก็เป็นการง่ายมากที่จะพูดโต้ตอบกับเด็ก แต่ครูก็อาจพูดจาโต้ตอบได้บ้างเหมือนกันถ้าครูอ่านเรื่อง ข้อเสียของกิจกรรมประเภทนี้คือ ไม่ว่าครูจะพยายามให้เรื่องเป็นจุดรวมของกิจกรรมมากเพียงใด แต่ก็มักจะลงเอยด้วยการที่ครูเป็นศูนย์กลางแต่ถ้าหากครูคอยระวังดึงเด็กเข้ามาร่วมด้วยให้มากที่สุดก็จะสามารถเพิ่มพูนประสบการณ์ของเด็กๆกับภาษา อังกฤษอีกวิธีหนึ่งคือการใช้หุ่นหรือตุ๊กตาแทนตัวละครโดยพยายามให้หุ่นออกท่าทางตามเรื่องราวที่ครูอ่านหรือเล่า                 อย่างไรก็ตามการให้เด็กฟังเรื่องจากเทปหรือซีดี มีข้อดีที่สำคัญบางประการเด็กสามารถ
ได้ยินเสียงคนต่างๆมากมาย มีการบันทึกไว้ให้ฟังซ้ำระหว่างที่ไม่ได้เรียนและสามารถกลับไปฟังเรื่องเดิม
แบบเดิมได้ง่ายเด็กๆก็จะสามารถฟังเรื่องอีกที่บ้านได้           
      ตัวอย่างกิจกรรมที่ครูทำได้กับการเล่าเรื่อง  
               - ให้เด็กวาดภาพตัวละครหรือฉากในเรื่อง    
             - ครูเล่าเรื่องโดยใช้หุ่นเป็นตัวละครพูดโต้ ตอบกันให้เด็กเล่าเรื่องอีกครั้งด้วยหุ่นของตนเอง
                - ครูมีรูปของบางฉากในเรื่องให้เด็กวางรูปในลำดับที่ถูกต้องแตะหรือกระโดด
ไปบนรูปขณะที่ครูเล่าเรื่อง และก่อนเล่าเรื่องอาจให้เด็กวางรูปในลำดับที่คิดว่าน่าจะเป็นตามเนื้อเรื่อง
                - เด็กแต่ละคนมีบัตรคำ หากมีการเอ่ยถึง คำใดคำหนึ่งจากบัตรเหล่านั้นในเรื่อง
เจ้าของบัตรจะต้องทำอะไรบางอย่างเช่น ทำเสียงตาม คำศัพท์ หรือยกมือ ชูบัตรขึ้นเป็นต้น
                - ถ้าหากเด็กรู้เรื่องนั้นแล้วในภาษาไทย  ครูอาจถามเด็กว่ามีคำภาษาอังกฤษคำไหนที่จะปรากฏในเรื่อง หรือคาดเดาความหมาย   
              - ครูสามารถหยุดเล่าเป็นครั้งคราวและ ถามเด็กว่าคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
                3. การสอนแบบตอบสนองด้วยการกระทำเท่านั้น (Total Physical Response/TRP) เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้กันบ่อย ตัวอย่างของ TRP คือครั้งแรกครูให้คำสั่งเป็นภาษาอังกฤษแล้วออก
ท่าทางตามไปด้วย แล้วครูก็ให้คำสั่งเดิมโดยไม่มีท่าทางประกอบ เด็กๆแสดงความเข้าใจด้วยการทำตาม
คำสั่งโดยไม่ต้องพูด แต่ก็สามารถดัดแปลงโดยให้เด็กพูดด้วยก็ได้ เช่น ให้เด็กพูดว่ากำลังทำอะไรอยู่ ถ้าครูพูดว่า  Please stand up. เด็กอาจยืนขึ้นและพูดพร้อมกันว่า We are standing up.   

 yim2.jpg
 
 
Listening Skill Teaching's Video Example
 
สรุป        การสอนทักษะการฟังเป็นทักษะแรกที่มีความสำคัญสำหรับภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารครูคือควบคุมดูแลกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  การจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กตื่นตัวสนใจในการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติมีความสุขในการเรียนรู้ภาษาเป็นสิ่งสำคัญ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการไตร่ตรองเป็นส่วนสำคัญของความเป็นครูความสามารถของเด็กในการเรียนภาษาอังกฤษและความสามารถของครูในการสอนจะไม่พัฒนาเต็มตามศักยภาพ หากครูไม่มีโอกาสที่จะถอยไปข้างหลังและไตร่ตรอง บางทีการมองการสอนของเราว่าเป็นการ ทดลองอย่างหนึ่งที่ต้องคอยตรวจสอบประเมิน ทบทวน และปรับปรุงก็ช่วยในการพัฒนาการสอนของเราได้อย่างมากทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น